Home Gellery About Bhutan Webboard Contact Us
No Title
เปิดเว็บไซต์ 25/12/2013
ปรับปรุง 22/01/2022
สถิติผู้เข้าชม 20,323,840
Page Views 3,746,002
สินค้าทั้งหมด 6
 

เมนู

 
www.oshitourandtravel.com

www.oshitourandtravel.com
www.oshitourandtravel.com

เทศกาลภูฏาน

เทศกาลภูฏาน

เทศกาลระบำหน้ากาก หรือ วันเซชู
ภูฏาน มีงานวันเซชู หรือ งานเทศกาลระบำหน้ากาก ที่เมืองพาโร เทศกาลที่สำคัญเทศกาลหนึ่งของชาวภูฏาณ วันเซซู Tshechusซึ่ง เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองและระลึกถึงพระเดชพระคุณของท่านกูรู รินโปเช ในวันที่ 10 ของเดือน (Tshechus แปลว่า Tenth of the month) แต่ในความจริงแล้วไม่ได้มีการฉลองวันเซซูกันทุกวันที่ 10 ของเดือนตามความหมายของคำนี้ เทศกาลเซซูจัดขึ้นโดยซองของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งแต่ละเมืองจะกำหนดวันเซซูขึ้นมาปีละครั้ง งานเซซูแต่ละครั้งจะจัดกันเป็นเวลานาน 3-5 วัน ไฮไลต์ของงานคือการแสดงชุดต่างๆ (monk dance) ที่มีเรื่องราวเนื้อหาเกี่ยวข้องกับศาสนา เซซูเป็นการแสดงกลางแจ้งในลานอเนกประสงค์ของซอง นักแสดงคือพระ (ในวัด) และฆราวาสที่อยู่ในท้องถิ่นนั้น เรื่องราวทีนำมาแสดงมักเป็นเรื่องเก่าแก่ซึ่งเป็นตำนานในพุทธศาสนาแม้จะแสดง เรื่องซ้ำๆกันทุกปี แต่ชาวบ้านก็ยังสนใจติดตามการแสดงในงานเทศกาลนี้อยู่เสมอ เทศกาลเซซูจะจบลงด้วยการทอดผ้าขาว บูชา ทังกาผืนใหญ่ที่มีรูปท่านกูรู รินโปเช กับคำสั่งสอนของท่าน (ทังกา หรือพระบฏ-Tanga มีชื่อเรียกเป็นภาษาซองคาว่า Thongdroel แปลว่า เพียงได้ประจักษ์แก่สายตาก็เป็นบุญกุศลอย่างใหญ่หลวง) โดยทางวัดจะแขวนทังกาผืนใหญ่ไว้บนที่สูงเพื่อให้คนมองเห็นทั่วกัน บางวัดในเทศกาลเซซูจะมีลามะมาเทศน์ให้ฟัง หลังจากเทศน์จบแล้วมีการแจกด้ายสี ให้คนที่มาสดับฟังพระธรรมเทศนาเอาไปคล้องคอมเพื่อเป็นสิริมงคล


คณะผู้บริหารและปกครองท้องถิ่นที่ประกอบด้วยพระและฆราวาส ที่เรียกว่า ซอง (Dzong) ของแต่ละเมืองในภูฏาน เช่น ทิมพู ปูนาคา ปาโร และตรงซา จะจัดงานเทศกาลใหญ่ประจำปี 2 งาน คือ งานดรอมเซ (Dromchoe) กับงานเซซู (Tshechus) บางเมืองจัดให้มีการแสดงกลางแจ้งเพียงไม่กี่ชุดหรือบางเมืองจะเน้นการเทศนา และการสวดมนต์ไหว้พระมากกว่าการแสดง ซึ่งในเทศกาลอย่างนี้ชาวภูฏานจะมาเข้าวัดฟังธรรมกันเป็นจำนวนมาก งานเทศกาลประจำปีของซองเมืองใดก็จะจัดกันเป็นงานใหญ่มาก ชาวภูฏานถือเป็นเทศกาลสำคัญของท้องถิ่น และเป็นเวลาที่คนที่จากบ้านไปทำงานในเมืองหรือไปอยู่ที่อื่น จะได้กลับมาทำบุญร่วมกับครอบครัว (เหมือนเทศกาลสงกรานต์ของไทย)

การแสดงของเหล่าพระและฆราวาสในงานเทศกาลต่างๆที่ภูฏาน มีสีสันและเป็นเสน่ห์ของภูฏานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากที่สุด การแสดงเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีทางศาสนา และเป็นการแสดงตามความเชื่อถือศรัทธาที่ชาวภูฏานมีต่อศาสนา ไม่ใช่เพื่อความสนุกสนานแต่อย่างใด ดังนั้นการไปร่วมในพิธีสำคัญทางศาสนาดังกล่าวนักท่องเที่ยวจึงควรสำรวม กิริยาและให้ความเคารพสถานที่ เพื่อเป็นการให้เกียรติชาวภูฏานในการทำพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาพุทธ ที่พวกเขาเคารพนับถือด้วย

ชาวภูฏานเรียกการแสดงทางศาสนาแบบนี้ว่า Cham ผู้แสดงมีทั้งพระและฆราวาส ชุดที่ใส่ในการแสดงล้วนมีสีสันสวยงาม และตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตระการตา การแสดงมีอยู่หลายชุด หลายแบบ บางชุดการแสดง ผู้แสดงสวมหน้ากากเป็นรูปพระพักตร์ของเทพเจ้าบ้าง เป็นรูปสัตว์ต่างๆบ้าง และรูปภูตผีปีศาสจบ้าง ชุดที่สวมใส่ในการแสดงส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าไหมสีเหลืองสด บางชุดเป็นผ้าที่สอดด้วยเส้นเงินเส้นทอง ผู้แสดงมักใส่เครื่องประดับที่ทำด้วยกระดูกสัตว์ การแสดงชุดที่มีชื่อเสียงมีหลายชุด เช่น

1. Dance of Black Hats (Shanag) การแสดงหมวกดำของพระ ในฐานะผู้ทำหน้าที่ขจัดความชั่วร้ายและอิทธิพลของภูตผีปีศาจ
2. Dance of the Drummers from Drametse ผู้แสดง 12  คน ใส่ชุดสีเหลือง ใส่หน้ากากเป็นรูปสัตว์ ตีกลองไปด้วยขณะร่ายรำ เป็นการแสดงชุดที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากที่สุด
3. Dance of Fearsome Deitetis (Tungam) ผู้แสดงแต่งตัวเป็นเทพเจ้า สวมใส่ชุดที่ตัดจากผ้าทอสอดดิ้นเงินดิ้นทองอย่างสวยงามมาก เป็นการแสดงชุดเทพเจ้ากำราบมาร
4. Dance of the Judgement of the Dead เป็นการแสดงชุดที่น่าสนใจ ในด้านการแสดงถึงอำนาจและอิทธิพลตามคำสอนของศาสนา เช่น ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นต้น

นอกจากการแสดงเหล่านี้แล้ว ยังมีการแสดงอื่นๆที่น่าสนใจอีกหลายชุด ซึ่งแต่ละวัดในท้องถิ่นต่างๆก็มีการแสดงทางศาสนาที่เป็นความภาคภูมิใจของคน ในท้องถิ่นนั้นๆ

วัดหยุดและเทศกาลสำคัญของภูฏาน

วันขึ้นปีใหม่และงานเทศกาลประจำปี (ระบำสวมหน้ากาก) ขึ้นอยู่กับปฏิทินทางจันทรคติ (ระหว่างเดือนกุมภาพันธุ์-มีนาคม) ภูฏานไม่นับวันแรกของเดือนมกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่ และในภูฏานไม่มีการจัดงานฉลองปีใหม่อย่างเป็นทางการ เพราะแต่ละภูมิภาคของภูฏานมีประชากรต่างเชื้อชาติต่างศาสนา ต่างก็มีวันขึ้นปีใหม่และงานเทศกาลที่เป็นไปตามความเชื่อของแต่ละท้องถิ่น ดังนั้น วันขึ้นปีใหม่และงานเทศกาลจึงไม่ตรงกัน

ในวันขึ้นปีใหม่ของแต่ละท้องถิ่น จะมีการจัดกิจกรรมที่สำคัญ คือ การแข่งขันกีฬายิงธนู หลังจากการทำกิจกรรมทางศาสนา เช่น การไหว้พระ ถวายเครื่องบูชาเทพเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือแล้ว ต่อจากนั้นก็เป็นการรวมญาติ ทำอาการกันกิน ร้องรำทำเพลง และเล่นกีฬา (ยิงธนู) เป็นโอกาสที่ที่คนในครอบครัวใช้เวลานี้ได้รวมตัวกัน

งานเทศกาลทางศาสนา
• เทศกาลทางศาสนาของภูฏานที่คนรู้จักกันมากที่สุดคือ เทศกาลเซซูที่จัดขึ้นเพื่อบูชาคุรุรินโปเซ (คุรุปัทมสัมภวะ) และเพื่อรำลึกถึงเรื่องราวของท่าน ซึ่งมีควาามเชื่อว่า เรื่องราวสำคัญๆ ในชีวิตท่านล้วนอุบัติขึึ้นในวันที่สิบของเดือน งานเซซูมักจะจัดขึ้นกันตั้งแต่ 3-5วันตามธรรมเนียมของแต่ละท้องที่ ในงานจะมีการแสดงระบำ แต่เป็นระบำทางศาสนาไม่ใช่ทางโลก ผู้แสดงอาจเป็นพระ ฆราวาส หรือกมเซ็น(พระบ้าน) ก็ได้ รายการแสดงจะเหมือนกันหมดทุกท้องที่ งานเซซูจะจบลงด้วยการนำภาพทังก้าหรือภาพพระบฎขนาดมหึมา แสดงภาพคุรุรินโปเซกับภาคสำแดงทั้งแปดของท่านออกมาให้คนบูชา ชาวภูฏานเรียกภาพพระบฎแบบนี้ว่า ทงเดรล หมายความว่า เพียงแค่มองก็ทำให้ผู้มองหลุดพ้นจากห้วงสังสารวัฏได้

• งานเทศกาลทางศาสนาของภูฏานส่วนใหญ่เป็นเทศกาลที่เกี่ยวเนื่องกับความอุดมสมบูรณ์และรุ่งเรือง สำหรับชาวภูฏานแล้วงานเทศกาลทางศาสนาถือเป็นโอกาสสำคัญในการเข้าสู่กระแสธรรมและการสั่งสมบุญกุศล ทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้คนได้มาพบปะพูดคุยโอ้อวดฐานะและความสำเร็จกัน ชาวภูฏานจะสวมเสื้อผ้าชุดที่ดีที่สุด สวมเครื่องประดับที่สวยที่สุด เตรียมอาหาร เนื้อสัตว์ มาปิกนิกกัน หญิงชายได้พบหน้าเกี่ยวพาราสี

• เทศกาลทางศาสนาบางงานจะจัดแสดงระบำเพียง2-3 อย่าง แล้วใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการสวดพระสูตรบางตอน ชาวบ้านในหมู่บ้านใกล้เคียงจะมุ่งหน้ามารวมตัวกันที่วัดเพื่อเข้าร่วมพิธี สวดและดื่มสุราไปพร้อมๆ กัน หมู่บ้านแต่ละแห่งจะมีงานเทศกาลทางศาสนาประจำปีของตน บางแห่งจะจัดแสดงระบำด้วย บางแห่งก็จัดแต่พิธีสวดมนต์ พอถึงหน้าเทศกาล ลูกหลานที่ย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ จะมุ่งหน้ากลับบ้านพร้อมเรี่ยไรเงินมาช่วยกันทำบุญอย่างพร้อมหน้า

ดนตรีทางศาสนา
• ดนตรีทางศาสานของภูฏานมีอิทธิพลของทิเบตแทรกซึมอยู่อย่างลึกซึ้งไม่ต่างจากเรื่องระบำ เครื่องดนตรีมี ดุงเซ็น (แตรยาว) ยาร์ลิง (ปี่ลิ้นคู่) งะ (กลองสองหน้าในคอกพร้อมไม้ตีที่โค้งเป็นวง) เริล์ม (ฉาบ) กังลิง (แตรที่ทำจากกระดูกโคนขา) สังข์ ดามารู (กลองสองหน้าขนาดเล็ก ตีด้วยลูกตุ้มกลมๆ ที่ร้อยเชือกติดไว้กับตัวกลอง) และ ดริลบู (ระฆังใบเล็ก) ดนตรีจะเป็นตัวกำหนดจังหวะให้กับระบำและการประกอบพิธีทางศาสนา ตลอดจนเป็นตัวคั่นจังหวะการร้องเพลงหรือการสวดพระสูตรต่างๆ เสียงแตรยาวจะเป็นตัวบอกว่าระบำนั้นๆ ได้จบแล้ว

กีฬายิงธนู การละเล่นและกีฬาประจำชาติของภูฏาน
• การยิงธนู เป็นกีฬาประจำชาติของภูฏาน และสามารถเล่นกันได้ตลอดทั้งปี ในงานเทศกาลต่างๆ จะมีการจัดแข่งขันกีฬายิงธนูอยู่ด้วยทุกครั้งไป

• คันธนูหรือไม้เกาทัณฑ์ คันธนูกับลูกจะทำขึ้นจากไม้ไผ่พันธุ์พิเศษที่มีอยุ่ในภูฏาน สายธนูอาจจะมีกำลังส่งสูงถึง 60 ปอนด์ คันธนูประดิษฐ์อย่างดี ในปัจจุบันมีราคาถึงอันละ 10,000-20,000 บาท ในขณะที่สนามยิงธนูเองก็มีความยาวถึง 120 เมตร ที่สุดปลายสนามจะตั้งเป้าที่เป็นแผ่นไม้ทาสีขนาด 30×120 เซนติเมตรเอาไว้สองตัว โดยที่สองทีมจะผลัดกันยิงเป้าทีละตัว แต่ละทีมจะมีนักกีฬาอยู่ทีมละ 11 คน แต่ละคนจะยิงธนูคนละสองครั้ง ทีมไหนทำได้ 33 คะแนนก่อนจะเป็นฝ่ายชนะ มีการแข่งขันกันตั้งแต่ระดับชาวบ้าน ข้าราชการกระทรวงทบวงกรมต่างๆ เพื่อชิงชนะเลิศประจำปีในงานเทศกาลประจำเมือง

• การแข่งขันกีฬายิงธนูแบ่งออกเป็น 3 เซ็ต การนับคะแนนค่อนข้างซับซ้อน เพราะถึงยิงไม่เข้าเป้า แต่ถ้าลูกธนูยังอยู่ในแนวเดียวกับเป้าก็ยังได้คะแนน แต่จะได้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับระยะห่าง

• ทีมที่เข้าแข่งแต่ละทีมจะมีผู้สนับสนุนและเชียร์ลีดเดอร์ของตนเอง นั่นคือบรรดาผู้หญิงที่มาเต้นรำร้องเพลงยกย่องฝีมือทีมของตน พลางก็ล้อเลียนและเยาะเย้ยทีมคู่ต่อสู้ให้เสียสมาธิไปพลา

• ในภูฏาน มีกฎห้ามไม่ให้ผู้หญิงจับคันธนูอย่างเด็ดขาด ในวันก่อนการแข่งขันยิงธนูนัดสำคัญ นักยิงธนูจะต้องนำข้าวของไปเซ่นไหว้บูชาเทพเจ้าประจำหมู่บ้าน และจะต้องไม่นอนค้างที่บ้านของตน นักยิงธนูมือดีที่สุดจะใช้ผ้ากับเนะหลากสีมัดติดไว้กับหลังเข็มขัด และทุกครั้งที่ลูกธนูของเขาพุ่งตรงเข้ากลางเป้า ลูกทีมทั้งหมดจะออกมาเต้นระบำฉลองกันเป็นฉากสั้นๆ

• การแข่งขันยิงธนูของชาวภูฏานนั้น เป็นกีฬาที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ผู้แข่งขันเป็นอย่างมาก จึงมีการฝึกซ้อมและมีการทำพิธีต่างๆ เพื่อชัยชนะ จึงต้องเก็บรักษาคันธนูและลูกธนูเพื่อป้องกันการทำลายจากอีกฝ่ายหนึ่ง และยังมีการวางกฎห้ามนักกีฬานอนกับผู้หญิงก่อนคืนวันแข่งขัน ด้วยเกรงว่าจะทำให้จิตใจวอกแวกและเสียสมาธิ

• บางท้องถิ่น นิยมการเล่นหมุนตัว ขว้างก้อนหินหรือยิงก้อนหินไปสู่เป้าหมาย อันเป็นการละเล่นที่สืบเนื่องมาจากบรรพบุรุษที่ใช้การขว้างก้อนหินหรือยิงเกาทัณฑ์อันแม่นยำ เพื่อล่าสัตว์หรือป้องกันตัวเองอันตรายจากสัตว์ร้าย ซึ่งการยิงธนูตามแบบตะวันตกได้แพร่เข้ามาสู่ภูฏานในค.ศ. 1980 และได้รับความนิยมทั้งในหมู่หญิงและชาย ถึงขนาดมีการส่งคนเข้าแข่งในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ

• เดโก เดโกเป็นกีฬาโบราณที่เล่นกันในหมู่พระลามะ เพราะการยิงธนูถือเป็นกีฬาต้องห้ามสำหรับพระ มีลักษณะคล้ายการเล่นโบว์ลิ่งหรือเปตองของฝรั่งเศส โดยผู้เล่นจะทอยหินที่คอ่นข้างมีน้ำหนักให้กลิ้งไปอยู่ใกล้ไม้ท่อนเล็กๆ ที่ปักเอาไว้บนพื้นดินให้มากที่สุด และสามารถทอยหินไปตีหินของคู่ต่อสู้ให้ออกนอกทางได้ด้วย

• ปุงโด ปุงโดเป็นการละเล่นของฆราวาส โดยให้ผู้เล่นขว้างก้อนหินน้ำหนักหนึ่งกิโลกรัมไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะไกลได้ ผู้เล่นต้องใช้ฝ่ามือแบกหินเอาไว้แล้วขว้างโดยใช้กำลังไหล่เป็นแรงส่ง

• เกเชและเชรปาร เป็นเกมที่ผู้ชายสองคนจะต้องปะทะกำลังกัน เกมเกเชมีลักษณะคล้ายมวยปล้ำ ส่วนเชรปาร ลักษณะคล้ายกีฬางัดข้อ แต่มีข้อแตกต่างกันตรงที่ฝ่ายหนึ่งจะตั้งหมัดขึ้นข้างเดียว ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามจะใช้มือทั้งสองข้างเกี่ยวเอาไว้ ถ้าฝ่ายแรกดึงหมัดออกจากมือของฝ่ายหลังได้จะถือเป็นฝ่ายชนะ

• กูรู กูรูเป็นเกมปาลูกดอกที่เล่นกันกลางแจ้ง โดยเป้าจะอยู่ห่างออกไปราว 20 เมตร

• โซซม โซซมคือกีฬาพุ่งหลาวในระยะ 20 เมตร

Tags : ทัวร์ภูฏาน เทศกาลภูฏาน โอชิทัวร์แอนด์ทราเวล

OSHITOUR & TRAVEL CO.,LTD.
59/118 ชินเขต2 ถนนงามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

                                             สงวนลิขสิทธิ์ :. © 2013 บริษัท โอชิทัวร์ แอนด์ ทราเวล จำกัด

Tel :. 099-6361499, 02-0011838
Email :. info@oshitourandtravel.com
ใบอนุญาตเลขที่ :. 11/10715


 
  
view