Home Gellery About Bhutan Webboard Contact Us
No Title
เปิดเว็บไซต์ 25/12/2013
ปรับปรุง 22/01/2022
สถิติผู้เข้าชม 20,329,627
Page Views 3,752,831
สินค้าทั้งหมด 6
 

เมนู

 
www.oshitourandtravel.com

www.oshitourandtravel.com
www.oshitourandtravel.com

วัดถ้ำเสือ (Tiger’s Nest)

วัดถ้ำเสือ (Tiger’s Nest)
วัดทั๊กซัง (Taktshang Goemba)
พาโรเป็นเมืองที่มีทิวทัศน์สวยงามและเป็นเมืองที่สดใสมีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังมีชื่อในฐานะเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของอารามที่สำคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะศาสนสถานที่ตั้งอยู่บนหน้าผาสูงชันถึง 900 เมตร อันได้แก่ วัดทักซัง ที่มีความสำคัญสำหรับประเทศภูฏานทั้งประเทศ

วัดทั๊กซัง มีชื่อเสียงรู้จักกันแพร่หลายไปทั่วโลก รวมถึงเป็นวัดที่โด่งดังที่สุดในภูฏานอีกด้วย … วัดนี้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า “วัดถ้ำเสือ” (Tiger’s Nest)

ภาพของวัดที่มีรูปแบบตรงตามเอกลักษณ์ของภูฏานที่แฝงตัวอยู่ริมโตรกผาสูงถึง 900 เมตรที่ปรากฏในสายตานั้นน่าอัศจรรย์มาก จนเป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมาชมว่าวัดที่ตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่เหนือระดับน้ำทะเล 3,000 เมตรนั้น มีสิ่งใดซ่อนอยู่ เราไม่มีเวลาพอที่จะขึ้นไปยลวัดทักซังด้วยตัวเอง ได้แต่ยืนมองและถ่ายรูปความอลังการของเทือกเขาและวิหารสีขาวที่มีเครื่องยอดบนหลังคาสีทองซึ่งตั้งอยู่อย่างหมิ่นเหม่บนยอดเขาอยู่ไกลๆ …

วัดทักซังในสายตาของเราในเวลานี้ดูโดดเด่นออกมาจากหินผาที่ตัดตรง คล้ายกับว่าวิหารแห่งนี้ล่องลอยได้ในอากาศ

คงไม่มีสิ่งอื่นใดนอกจากความอุตสาหะและพลังศรัทธาอย่างแรงกล้าในศาสนาเท่านั้น จึงสามารถเนรมิตอารามศักดิ์สิทธิ์แสนอัศจรรย์บนหน้าผาท่ามกลางป่าเขาเช่นนี้ได้ … แม้ไม่ได้เดินทางขึ้นไปด้วยตัวเอง แต่ฉันจะขอนำเนื้อความบางส่วนจากนิตยสาร Check Tour มาให้อ่านเพื่อเป็นข้อมูลค่ะ

วัดทักซังประกอบไปด้วยอาคาร 13 หลัง ตั้งไต่ระดับความสูงลดหลั่นคล้ายซ้อนกันอยู่อย่างหมิ่นเหม่จนแทบจะมองไม่เห็นว่าจะมีทางใดในการเดินขึ้นไปสู่วัด

เล่ากันว่าวัดแห่งนี้ ท่านคุรุรินโปเชเคยเข้ามาบำเพ็ญญาณบารมี ส่วนท่านซับดรุง งาวัง นัมเกล ก็เคยเข้าไปเยี่ยมวักแห่งนี้เช่นเดียวกัน … วัดแห่งนี้จึงได้รับการเลื่อมใสของชาวพุทธภูฏานเป็นอย่างมากในการเดินทางมาสวดมนต์ภาวนาปฏิบัติธรรม

วัดทักซัง เคยถูกไฟไหม้ทำลายลงถึง 2 ครั้งในปี พ.ศ.2494 และ พ.ศ.2541 จนสิ่งก่อสร้างหลักและเครื่องตกแต่งภายในวัดเสียหายไปจนเกือบหมด แต่ก็ได้รับการฟื้นฟูโดยรัฐบาลภูฏานให้กลับคืนสภาพสวยงามดังเดิม และมีการบูรณะครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2543

ที่มาของวัดทักซังนั้น ชาวภูฏานเชื่อกันว่า ในครั้งแรกที่มีการสร้างวัดนี้ ท่านคุรุรินโปเช (แปลว่า อาจารย์ใหญ่ผู้ล้ำเลอค่า) ผู้ซึ่งชาวภูฏานเชื่อว่าเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 ได้ขี่นางเสือตัวหนึ่งและเหาะด้วยญานบารมีมาจากทางภาคตะวันออกของประเทศ ขึ้นมาบำเพ็ญญาณในถ้ำของวัด จนเมื่อครบ 3 เดือนท่านจึงออกมาเพื่อแสดงธรรมแก่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหุบเขาพาโร ต่อมาถ้ำนี้กลายเป็นสถานที่สำหรับการเจริญสมาธิ และบำเพ็ญเพียรของพระลามะอีกหลายรูป

ใครที่อยากรู้ว่าชาวภูฏานนับถือ ท่านคุรุรินโปเช มากมายแค่ไหน ต้องไปเยือนพาโรในเดือนเมษายน เพราะจะมีงานเทศกาลสักการะ ท่านคุรุรินโปเช ที่เอิกเกริกที่สุด โดยเฉพาะพิธีกางผ้าพระบฏรูปท่านคุรุฯ ผืนใหญ่เท่าตึก 4-5 ชั้น … ความศักดิ์สิทธิ์นั้น ก่อให้เกิดคำกล่าวในหมู่ชาวภูฏานว่า อย่าด่วนลาโลกนี้ไป หากยังไม่ได้เห็นผ้าพระบฏผืนใหญ่ผืนนี้

หากการเดินทางสู่สรวงสวรรค์นั้นต้องอาศัยการบำเพ็ญเพียรและทำความดีอย่างมากแล้ว การเดินทางสู่วัดทักซังก็ต้องพึ่งความพยายามไม่น้อย ด้วยต้องมีศรัทธาอันแรงกล้าและความแข็งแกร่งของแรงขาทั้งสองข้างในการเดินขึ้นเขาที่สูงชันท่ามกลางอากาศที่บางเบา ร่วมจาริกเคียงบ่า เคียงไหล่ไปกับพระและฆราวาสที่เปี่ยมไปด้วยศรัทธา

การเดินทางขึ้นไปยังวัดทักซังใช้เวลาราว 2 ชั่วโมง โดยในครึ่งแรกของการเดินทางขาขึ้นนักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้า หรือขี่ม้าหรือลาซึ่งมีให้บริการที่ต้นทาง ส่วนขาลงไม่มีม้าหรือลาให้บริการต้องเดินลงอย่างเดียว สิ่งสำคัญที่ต้องเตรียมให้พร้อมหากจะเดินขึ้นไปยังวัดทักซังก็คือน้ำดื่ม

ว่ากันว่า … ระหว่างทางคุณจะเพลิดเพลิน ดื่มด่ำกับบรรยากาศของธรรมชาติที่มีภูเขาสูงต่ำสลับซับซ้อนอยู่ในสายตา มีพืชนานาพันธุ์ สายน้ำ ต้นสน มอส รวมถึงวิวที่น่าตื่นตาของเมืองพาโรให้ดู … หากคุณเป็นคนที่กลัวความสูงเวลาที่อยู่บนหลังม้าหรือลาก็อย่ามองลงมายังทางที่แคบและชัน ด้านหนึ่งเป็นหน้าผา ซึ่งม้าแต่ละตัวมักจะชอบเดินเลียบหน้าผาให้เสียวไส้เล่นซะอย่างนั้น

จนเมื่อถึงประมาณครึ่งทางซึ่งใช้เวลาบนหลังม้าราว 40 นาที ก็จะมาถึง Taktsang Cafeteria อันเป็นจุดแวะพักที่สามารถชมวิวและพักรับประทานอาหาร ดื่มน้ำชากาแฟ รวมถึงใช้บริการห้องน้ำ คุณสามารถมองเห็นวัดทักซังได้ในระยะไม่ไกล รวยมถึงจะได้ยินเสียงน้ำตกที่อยู่ไม่ไกลจากจุดนี้ …

จากนั้นก็ต้องกลับมาขึ้นม้าอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงที่สองของการอยู่บนหลังม้า คุณจะได้ยินเสียงพระสวดก้องกังวานอยู่บนหุบเขา และใช้เวลาราว30 นาทีก็จะเป็นจุดสิ้นสุดทางม้า ต้องลงเดินเท้าต่อขึ้นไปยังวัด

ตลอดระยะทางเดินที่ค่อยๆสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจจะทำให้การหายใจลำบากอยู่บ้าง ด้วยอากาศเริ่มเบาบางลง แต่วิวทิวทัศน์โดยรอบ และน้ำตกที่สวยงามก็ทำให้ลืมความเหน็ดเหนื่อยลงได้บ้าง …

ใช้เวลาเดินราว 30 นาทีก็จะถึงบริเวณวัดทักซัง และเมื่อเดินไปจนถึงบริเวณหน้าวัด จุดนี้คือพื้นที่สิ้นสุดสำหรับการถ่ายภาพ เพราะวัดไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพหรือบันทึกวีดีโอภายในบริเวณวัด นักท่องเที่ยวต้องฝากสัมภาระ กล้องถ่ายรูปและกระเป๋าทั้งหมด รวมถึงโทรศัพท์ไว้หน้าทางเข้า โดยห้ามนำสิ่งของใดๆติดตัวไปด้วย ทางวัดได้จัดล๊อกเกอร์ (ไม่มีกุญแจล๊อก) ไว้บริการ และไม่ต้องกังวลค่ะ ทุกคนกล่าวว่าไม่เคยปรากฏว่ามีของหายที่นี่ ชาวภูฏานมีวินัยและซื่อสัตย์มาก

ภายในวัดทักซังประกอบไปด้วยห้องต่างๆ ที่เต็มไปด้วยรูปสลักขององค์เทพที่ชาวภูฏานให้ความนับถือ รวมถึงงานประติมากรรมและจิตรกรรมหลายชิ้น

ทางด้านซ้ายของประตูทางเข้าเป็นที่ตั้งของสถูปบรรจุร่างสังขารของท่าน “ลังเซ็น เปยี ซิงเก” ผู้เป็นศิษย์ของท่านคุรุรินเปเซ แต่ที่นับว่าโดดเด่นในวัดทักซังก็คือ ถ้ำที่เคยเป็นสถานที่บำเพ็ญญาณของท่านคุรุรินเปเซ บนผนังมีภาพวาดประกอบคำสอนของท่าน

ในบริเวณชั้น 1 ในถ้ำเล็กๆนี้เป็นสถานที่สำคัญที่สุดของวัดทักซัง มีประตูสีทองด้านซ้ายมือ ซึ่งประตูนี้จะเปิดเพียงปีละครั้งๆละ 1 วัน ซึ่งในปี2554 นั้น เปิดเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม และกษัตริย์เท่านั้นที่เข้าได้

ถัดมาชั้นที่ 2 ของอาราม เป็นที่ที่ผู้คนเข้ามาสักการะท่านคุรุรินเปเซ (ปรางค์พูดได้) และเมื่อครั้งเกิดไฟไหม้ องค์ท่านไม่ได้รับความเสียหายใดๆจากเปลวไฟ

ถัดมาชั้นที่ 3 ของอาราม จะมีองค์พระพุทธรูปที่เคลือบด้วยทองคำ คือ “Buddha Long Live” rระแห่วงการมีชีวิตยืนยาว ทางด้านซ้ายเป็นรูปปั้นของท่านคุรุรินเปเซ ด้านขวาเป็นปรางค์ท่านคุรุรินเปเซขี่เสือ และปรางค์สุดท้ายคือ ตันตระยาน ปรางค์สูงสุดของท่านคุรุรินเปเซ

Guru Rinpoche : ตลอดระยะเวลาที่คุณเดินทางท่องเที่ยวในภูฏาน จะได้ยินเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับท่านกูรู รินโปเช หรือพระปทุมสมภพ มีตำนานเกี่ยวกับท่านเล่าว่า … ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานที่เมืองกุสินารา มีพุทธทำนายว่าอีก 12 ปี หลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานจะมีดอกบัวผุดขึ้นที่ทะเลสาบธนโกสะ ณ กรุงอุทยานะ ผู้ทรงธรรมเรืองบารมีจะอุบัติขึ้นกลางดอกบัว

ที่กรุงอุมยานะมีเรื่องเล่ากันว่า … กษัตริย์นามว่า พระเจ้าอินทราโพธิ เพียบพร้อมด้วยพระราชทรัพย์และอำนาจ แต่ทรงประสบเคราะห์กรรมพระเนตรบอดทั้ง 2 ข้าง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพระราชบุตรองค์เดียวสิ้นพระชนม์ก่อนเวลาอันสมควร จึงทรงทุกข์โทมนัสยิ่ง ในขณะเดียวกัน บ้านเมืองเกิดข้าวยากหมากแพง ตกอับยากไร้ พระองค์ทรงพร่ำภาวนาเทวาอารักษ์ให้มีพระราชบุตรองค์ใหม่ … แต่ก็ไร้ผล

พระองค์จึงทรงเสื่อมศรัทธาในศาสนา ประกาศให้ทำลายรูปปั้นเทพารักษ์และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย … ร้อนถึงพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร ที่ทรงขอร้องให้พระอมิตตาภาอวตารขากสวรรค์ชั้นสุขาวดี มาจุติในโลกเพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก จากนั้นบรรดาเทวดาอารักษ์และพระเจ้าอินทราโพธิต่างหยุดพิโรธ และกลับมายูชาพระรัตนตรัยดังเดิม

อย่างไรก็ตามบ้านเมืองก็ยังมีปัญหามากมาย เหล่าเสนาบดีต่างกราบบังคมทูลเสนอแนวทางต่างๆ แต่ก็ไม่เป็นผล จนในที่สุดทรงดั้นด้นไปเมืองพญานาคเพื่อขอแก้วสารพัดนึก ทรงขอให้พระเนตรข้างซ้ายกลับคืนมา เมื่อเสด็จนิวัติราชอาณาจักรได้ทอดพระเนตรเห็นรุ้งกินน้ำเหนือทะเลสาบธนโกสะ เมื่อเสด็จไปที่นั่นก็พบกุมารน้อย ณ ใจกลางดอกบัว จึงทรงขนานนามว่า “พระปทุมสมภพ” และทรงรำพึงว่า “กุมารนี้จะเป็นทั้งรัชทายาทและบรมครูของเรา”

เมื่อพระปทุมสมภพมีพระชนม์ได้ 13 พรรษา ทรงได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ ได้รับขนานนามว่า “พระปัทมกษัตริย์” โดยปกครองอาณาจักรด้วยศีล 10 ประการ และมีพระปรีชาสามารถในหลายๆด้าน ทั้งงานศิลป์ ปรัชญา และการกีฬา ทรงเสวยสุขในทางโลกอยู่ 5 ปี จนพระวัชรสีตตวามาปรากฏในนิมิต ทูลเตือนให้พระองค์สละราชสมบัติและความสุขส่วนพระองค์ เพื่อแสวงหาพระโพธิญาณ จึงตัดสินพระทัยที่จะผนวชโดยไม่ฟังคำทัดทานจากผู้ใด จากนั้นมาความศรัทธาในพระองค์ก็เพิ่มพูนเป็นเท่าทวีคูณ

Tags : วัดทักซัง วัดถ้ำเสือ ภูฏาน

OSHITOUR & TRAVEL CO.,LTD.
59/118 ชินเขต2 ถนนงามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

                                             สงวนลิขสิทธิ์ :. © 2013 บริษัท โอชิทัวร์ แอนด์ ทราเวล จำกัด

Tel :. 099-6361499, 02-0011838
Email :. info@oshitourandtravel.com
ใบอนุญาตเลขที่ :. 11/10715


 
  
view